วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

แหล่งความรู้สังคมศึกษา Social Education


เขตการค้าเสรีอาเซียน ASEAN Free Trade Area  (AFTA)






เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ อาฟต้า (AFTA) เป็นข้อตกลงทางการค้า สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

ความเป็นมา
1.ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (THE ASSOCIATION OF SOUTHEAST ASIAN NATIONS: ASEAN) หรืออาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ในเดือนมกราคม 1992 โดยความริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของไทย (นายอานันท์ ปันยารชุน) ต่อมามีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (1995) ลาว และพม่า (1997) และกัมพูชา (1999) รวมประชากรอาเซียนทั้งสิ้น 500 ล้านคน
2. อาเซียนมีความตกลง 2 ฉบับ ที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานอาฟต้า ได้แก่ ความตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน(FRAMEWORK AGREEMENT ON ENHANCING ASEAN ECONOMIC COOPERATION) ที่ใช้เป็นกรอบการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ และความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือเรียกสั้นๆ ว่า ความตกลงCEPT [AGREEMENT ON THE COMMON EFFECTIVE PREFERENTIAL TARIFF (CEPT) SCHEME FOR THE ASEAN FREE TRADE AREA (AFTA)] ที่ใช้เป็นกลไกในการดำเนินงานเขตการค้าเสรีอาเซียน





วัตถุประสงค์ของอาฟต้า
1) ส่งเสริมให้การค้าในอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศต่างๆที่ใกล้ชิดกัน มักจะมีการค้าระหว่างกันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะไปค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก เป็นต้น จึงคิดกันว่าควรขยายการค้าภายในให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
2) ถ้ารวมกันเป็นเขตการค้าเสรี การที่ภาษีลดต่ำลงจะเอื้ออำนวยให้การลงทุนจากประเทศที่สามเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น เพราะถ้ามาลงทุนในประเทศหนึ่งก็สามารถผลิตสินค้าไปขายในประเทศอาเซียนอื่นได้ โดยไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีต่ำมาก
3) ขณะนั้น การแข่งขันทางการค้าในโลกเริ่มเข้มข้นมากขึ้น และมีการเจรจารอบอุรุกวัย ภายใต้ WTO ซึ่งอาเซียนคิดว่าถ้าได้ซ้อมเปิดเสรีกันในกลุ่มเล็กนี้ก่อน ก็จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น



เป้าหมายของอาฟต้า

ประเทศสมาชิกจะลดภาษีสินค้าทุกรายการให้เหลือ 0-5% ภายในเวลา 10 ปี จากที่เริ่มต้นลดภาษี แล้วลดให้เหลือ 0% ภายในปี 2553-2558 ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสมาชิกเดิมหรือสมาชิกใหม่ รวมทั้งจะต้องค่อย ๆ ทยอยลด/เลิกเครื่องกีดขวางทางการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษีต่าง ๆ ให้หมดไปด้วย เช่น การจำกัดโควตานำเข้าระหว่างกันและกัน   จะยกเลิกทันทีที่ภาษีของประเทศนั้น ๆ ลดเหลือ 20% หรือการกำหนดมาตรฐานสินค้า หรือการออกใบอนุญาตนำเข้า ก็จะทยอยลดลงไปเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขตการค้าเสรีอาเซียน

             ไทยมีความสัมพันธ์กับอาฟต้าโดยตรงในฐานะที่เป็นภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งที่มีมูลค่าการค้าสูงและส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน เช่น พ.ศ.2540 ไทยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนรวม 626,251 ล้านบาท เป็นมูลค่าสินค้าออก 380,790 ล้านบาท มูลค่าสินค้าเข้า 245,425 ล้านบาทไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นเงิน 135,365 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของ พ.ศ.2541 มีมูลค่าการค้า รวม 510,057 ล้านบาท เป็นสินค้าออก 307,805 ล้านบาทสินค้าเข้า 202,251 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของ พ.ศ.2540 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 437,592 ล้านบาทแล้ว มีมูลค่าสูงขึ้น ถึง 72,465 ล้านบาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 16.6 ล้านบาท จึงคาดว่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศ ในกลุ่มอาเซียนจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และไทยจะได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นด้วย สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สำคัญ 5 อันดับแรก คือ
1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
2. ข้าว
3. แผงวงจรไฟฟ้า
4. น้ำตาลทราย

5. น้ำมันสำเร็จรูป

 ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อะไรอาเซียนจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของไทย อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียน การแบ่งงานกันผลิตชิ้นส่วนที่แต่ละประเทศสมาชิกมีความได้เปรียบจะส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

       เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่? ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงในการเปิดเสรีทางการค้าในสินค้าเกษตร ซึ่งมีสินค้าผูกพันตามข้อตกลงจำนวน 23 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ลำไยแห้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง พริกไทย ข้าว เมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ไหมดิบ น้ำตาล และใบยาสูบ





       สินค้าเกษตรไทยต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การเปิดเสรีทางการค้าทำให้การผลิตสินค้าทางการเกษตรเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ มีการลงทุนโดยกลุ่มทุนการเกษตรคราวละมากๆ แต่เกษตรกรไทยมีพื้นที่จำกัด ขาดเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะช่วยพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ หรือให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ทำให้ไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศไม่ได้ ประกอบกับถูกมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าด้อยคุณภาพ ทำให้เกษตรกรไทยไม่พร้อมจะแข่งขันในระดับโลก และในขณะเดียวกันก็จะทำให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทยไหลเข้ามาในประเทศ ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าทำให้สินค้าเกษตรไทยขายไม่ได้ เมื่อเกษตรกรไทยไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพื่อแข่งขันในประเทศตนเองไม่ได้ เกษตรกรไทยก็อาจจะต้องสูญเสียอาชีพไปในที่สุด

    ผู้บริโภคได้อะไร? ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคก็อาจจะซื้อสินค้าราคาถูกลงในระยะแรก แต่เมื่อเกษตรกรรายย่อยล่มสลายก็จะเกิดการผูกขาดทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องซื้อสินค้าและอาหารราคาแพงตลอดไป


     อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะรับมืออย่างไร? อาจกล่าวว่าเป็นความโชคดีก็ได้ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะไปเจรจาขอเลื่อน AFTA ภาคการบริการการท่องเที่ยวออกไปอีกเป็น พ.ศ. 2558 เนื่องจากต้องการเวลาในการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้มีความพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน ในด้านผู้ประกอบการจะเป็นกังวลเรื่องการลงทุนว่าเมื่อต่างชาติมีความพร้อมด้านเงินลงทุนมากกว่าก็จะเข้ามาตีตลาดได้ แต่ธุรกิจนำเที่ยวไทยที่ไม่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนจำนวนมากก็จะแข่งขันด้านการตลาดไม่ได้ นอกจากนี้การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน ในปี 2558 จะทำให้บุคลากรของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะยังมีจุดอ่อนทางด้านภาษาและไอที กลุ่มแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาก็จะหางานทำได้ยากขึ้น เพราะจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานเพราะความได้เปรียบด้านภาษา อย่างไรก็ตามกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมด้านบุคลากรด้านการท่องเที่ยวมากถึง 242 หลักสูตรเพื่อรับมือกับปัญหาด้านแรงงานที่จะมีขึ้น หลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งหมดนี้ต้องนำเสนอให้ที่ประชุมอาเซียนพิจารณาและรับรองหลักสูตรเพื่อให้เกิดการยอมรับก่อนนำไปใช้ ปัจจุบันหลักสูตรที่ทำเสร็จแล้วคือ หลักสูตรพนักงานต้อนรับในโรงแรมที่ได้เปิดทดลองใช้และพัฒนาให้ดีขึ้น และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานเพื่อการออกใบรับประกันการผ่านงาน ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำประกาศนียบัตรนี้ไปสมัครทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทั้ง 10 ประเทศ (หลังจากกลุ่มอาเซียนเซ็นยอมรับในหลักสูตรอบรมมาตรฐานแล้ว)
   




                  การเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) มีทั้งประโยชน์และอุปสรรคต่อคนไทยในทุกภาคส่วนทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องศึกษารายละเอียดและข้อตกลงต่างๆเพื่อเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่คาดได้ว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งคว้าโอกาสที่จะมาถึง ก็จะดีกว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือวิตกกังวลจนเกินไป
   












1 ความคิดเห็น: